▶️  จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการรขับเคลื่อนธนาคารปูม้าตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model)

 ในปี 2563 สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการโครงการขับเคลื่อนธนาคารปูม้าตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ในพื้นที่ลุ่มเครือข่ายธนาคารปูม้าอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กับท้องทะเลไทย รวมทั้งการจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน  โดยคัดเลือกพื้นที่อำเภอปะทิว และอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะต่างๆในการทำธนาคารปูม้าให้กับชุมชน  ตามแนวทาง BCG Model ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เสริมสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน และขยายผลสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีของชุมชนตำบลคลองวาฬ  ปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาทิ

วันที่ 19 มกราคม 2565  สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ร่วมกับ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ รูปแบบ on-site และ online เรื่อง "การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปูม้า" ภายใต้โครงการการขับเคลื่อนธนาคารปูม้าตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ในพื้นที่กลุ่มเครือข่ายธนาคารปูม้าอำเภอปะทิว-เมือง จังหวัดชุมพร ณ ธนาคารปูม้าโฮมสเตย์บ้านไม้ชายคลอง ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการนี้ มี ผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ และ ผศ.ดร.จีรวรรณ มณีโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับสมาชิกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ และนอกพื้นที่รวม 25 คน

▶️  บรรยายเชิงปฏิบัติการ พร้อมส่งมอบนวัตกรรม "ระบบต้นแบบการเพาะฟักแม่กุ้งแชบ๊วยเพื่อปล่อยลูกกุ้งกลับคืนสู่ทะเลโดยชุมชน"
       
ในวันที่ 17 กันยายน 2564 สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนายวุฒิชัย อ่อนเอี่ยม หัวหน้าสถานี ฯ ได้รับเชิญจากสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี ให้เป็นวิทยากรบรรยายเชิงปฏิบัติการ พร้อมส่งมอบนวัตกรรม "ระบบต้นแบบการเพาะฟักแม่กุ้งแชบ๊วยเพื่อปล่อยลูกกุ้งกลับคืนสู่ทะเลโดยชุมชน" ให้กับกลุ่มประมงชายฝั่งบ้านแหลมแท่น ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เพื่อให้ทางกลุ่มใช้ประโยชน์ในการดำเนินการ "ธนาคารแม่กุ้งแชบ๊วย"  เนื่องจากปัจจุบันทรัพยากรกุ้งแชบ๊วยในพื้นที่ลดลง ชาวประมงได้ผลผลิตกุ้งได้ลดลง
เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ประกอบกับเมื่อได้แม่กุ้งที่มีไข่มาแล้ว เกิดความเสียดายที่ว่า ถ้าเอามาเพาะฟักให้ได้ลูกกุ้งก่อนนำแม่กุ้งไปขาย น่าจะช่วยลดปัญหาทรัพยากรกุ้งขาดแคลนได้ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า (ด้วยการนำแม่กุ้งมาเพาะฟักก่อนนำไปจำหน่าย) และช่วยเสริมสร้างทรัพยากรกุ้งในทะเลหน้าบ้านให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปได้
 

จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้เริ่มมาจาก ทางสถานีฯ ได้รับรู้ปัญหาจากทางกลุ่มประมงชายฝั่งบ้านแหลมแท่นมาเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว ในการให้ช่วยคิดระบบเพาะฟักแม่กุ้งทะเล (กุ้งแชบ๊วย) ให้กับชุมชน โดย "ต้องเป็นระบบที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง และที่สำคัญชุมชนต้องปฏิบัติได้จริง"  ซึ่งในความเป็นจริง ระบบเพาะฟักแม่กุ้งทะเลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน จะเป็นการดำเนินการเชิงพาณิชย์แทบทั้งสิ้น และต้องลงทุนสูง มีขั้นตอนในการดำเนินการที่ละเอียด หลายขั้นตอน และต้องดูแลเอาใจใส่ในทุกกระบวนการเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้ผลผลิตลูกกุ้งระยะแรกฟัก (ระยะนอเพลียส) ที่มีคุณภาพดีและปริมาณมากเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากกว่าเชิงอนุรักษ์ จากปัญหาดังกล่าว ทางสถานีฯ จึงพัฒนา "ระบบต้นแบบการเพาะฟักแม่กุ้งแชบ๊วยเพื่อปล่อยลูกกุ้งกลับคืนสู่ทะเลโดยชุมชน" ให้กับกลุ่มประมงชายฝั่งบ้านแหลมแท่น เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบในการดำเนินการ "ธนาคารแม่กุ้งแชบ๊วย" เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรกุ้งในพื้นที่ทะเลหน้าบ้าน ซึ่งทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนกิจกรรมและการดำเนินการโดย "สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี" ภายใต้โครงการ อนุรักษ์ฟื้นฟูและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทะเลโดยชุมชนมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ 2564