แอปพลิเคชันสำหรับการจำแนกชนิดของแพลงก์ตอน (Plankton Key)

จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถจำแนกกลุ่มหรือชนิดของแพลงก์ตอนในแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเบื้องต้นได้ และบอกถึงสาเหตุการเกิด ประโยชน์ และโทษของแพลงก์ตอนในกลุ่มหรือชนิดดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ผลงานวิจัยโดย ผศ.ดร.ไพลิน จิตรชุ่ม และ สุธาทิพย์ คงทน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยจาก สำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้โครงการการพัฒนาแอปพลิเคชันทางการเกษตรเพื่อสร้างระบบตัดสินใจให้เกษตรกรและผู้ผลิต 4.0


การเลี้ยงปลาเทราต์ ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ในประเทศไทย

คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายวิจัยและพัฒนากระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาเทราต์สายรุ้งในระบบน้ำปิดแบบหมุนเวียน เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบที่มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับและพัฒนาระบบการเลี้ยงปลาเทราต์สายรุ้งของประเทศไทยภายใต้ชื่อโครงการ การพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงแบบน้ำหมุนเวียนเพื่อการผลิตปลาเทราต์สายรุ้ง โดยมีหัวหน้าโครงการคือ รศ.ดร. วราห์ เทพาหุดี และผู้ร่วมโครงการ ดร. ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ ได้เริ่มดำเนินงานวิจัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 รวมระยะเวลาการวิจัย 18 เดือน จากผลการดำเนินการวิจัยพบว่า การเลี้ยงปลาเทราต์สายรุ้งในระบบน้ำปิดแบบหมุนเวียน มีศักยภาพการผลิตปลาเทราต์สายรุ้งที่ดีมีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างงานและรายได้ที่มั่นคง โดยทางคณะผู้วิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาเทราต์สายรุ้งในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต