ในปี 2565 สถานีวิจัยประมงคลองวาฬและสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับชาวประมงผู้เลี้ยงกุ้งมังกรและผู้รับซื้อกุ้งมังกร เพื่อดำเนินงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC) ภายใต้โครงการ "การพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรกุ้งมังกรเลน (Panulirus polyphagus) เพื่อสร้างนวัตกรรมการผลิตและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน" ที่สนับสนุนทุนดำเนินงานโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้เพื่อ พัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรกุ้งมังกรจากทะเลและจากการเพาะเลี้ยงนอกชายฝั่ง สู่การท่องเที่ยวเชิงวิถี การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
▶️ ในช่วงวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 นายวุฒิชัย อ่อนเอี่ยม หัวหน้าสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ นางสาวรุ่งทิวา คนสันทัด พร้อมทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC) ร่วมกับชาวประมงผู้เลี้ยงกุ้งมังกรและผู้รับซื้อกุ้งมังกร
ต่อเนื่องมาถึงในปี 2566 ทีมวิจัยของสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นายวุฒิชัย อ่อนเอี่ยม หัวหน้าสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ น.ส.วาสนา อากรรัตน์ นักวิชาการประมง น.ส.รุ่งทิวา คนสันทัด นักวิชาการประมง และน.ส.ชลดา รีอร่าม ผู้ช่วยนักวิจัย พร้อมด้วย นายศุภกานต์ ชัยโชติรานันท์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กรมประมง (ศพช.ปข.) ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อดำเนินกิจกรรมเสวนาขยายผลองค์ความรู้ เรื่อง "การใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการ "การพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรกุ้งมังกรเลน (Panulirus polyphagus) เพื่อสร้างนวัตกรรมการผลิตและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน" ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีรายละเอียดของกิจกรรม ดังนี้
▶️ วันที่ 16 ก.พ. 2566 (จัดกิจกรรมครั้งที่ 1) พบกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังนอกชายฝั่ง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่บริเวณอ่าวเหนา ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โดยมีการบูรณางานร่วมกันกับกำนันตำบลแหลมสัก (นายไซย์ดี้ย์ โรมินทร์) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี (นายวีระศักดิ์ ศรีสัจจัง) ในการดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดและขยายผลองค์ความรู้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งเศรษฐกิจ เช่น กุ้งมังกร ปลาทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปูม้า ปลิงทะเล และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่อุทยาน ทั้งนี้เพื่อให้ไปตามมาตรการ หรือกฏกติกาของอุทยานเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 29 คน
▶️ 17 ก.พ. 2566 (จัดกิจกรรมครั้งที่ 2) พบกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน บ้านเกาะปู หมู่ที่ 2 (เกาะปู) ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยบูรณางานร่วมกันกับกำนันตำบลเกาะศรีบอยา (นายสำราญ ระเด่น) ในการดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลองค์ความรู้ สู่กลุ่มเป้าหมายในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับได้จากการทำประมงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 16 คน