คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการวางแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยในปี 2565  ถึงปัจจุบันมีการดำเนินการ อาทิ

▶️ การเสวนาพิเศษ เรื่อง "การประมงไทยสู่การพัฒนาด้านสุขภาวะอย่างยั่งยืนด้วยมุมมองจากคนในแวดวง (Thai Fisheries towards development for well-being sustainability from insider)” 

การเสวนาพิเศษ และสัมมนาพิเศษ ในการจัดประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 61 สาขาประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 2 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม 303 อาคารบุญอินทรัมพรรย์ ในช่วงเช้าเวลา 9.00 – 12.00 น. เป็นการเสวนาพิเศษ เรื่อง "การประมงไทยสู่การพัฒนาด้านสุขภาวะอย่างยั่งยืนด้วยมุมมองจากคนในแวดวง (Thai Fisheries towards development for well-being sustainability from insider)” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เกี่ยวกับการประมงไทยทั้งหน่วยงานการศึกษา ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรหลักของการวิจัยด้านการเกษตรและประมง นำโดย ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) คุณพงศ์ธร พิทักษ์โกศลพงศ์ Regulatory Affairs Deputy Manager จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ Program Director สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) รศ.ดร.อรพินท์ จินตสถาพร อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ ผศ.ดร.จุฑา มุกดาสนิท หัวหน้าภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.วรัณทัต ดุลยพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง

และในช่วงบ่าย เวลา 13.00 – 16.00 น. เป็นการสัมมนาพิเศษ เรื่อง “การวิจัยและเทคโนโลยีแนวหน้าด้านการประมงสู่สุขภาวะอย่างยั่งยืน (Frontier fisheries research and technologies towards well-being sustainability)” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ โดย รศ.ดร.วรรณวิมล คล้ายประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง, Mr. Heru PRAMONO Faculty of Fisheries and Marine, Universitas Airlangga – Indonesia, Prof. Ikuo HIRONO Tokyo University of Marine Science and Technology – Japan, Prof. Yeong Yik Sung Universiti Malaysia Terengganu – Malaysia, Prof. Liu YANG Ocean University of China - China ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เยาวภา ไหวพริบ อาจารย์ประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง และ ดร.ถิรวัฒน์ รายรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาประมง ซึ่งคณะประมงได้จัดงานในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Cisco Webex และ On-Site ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาพิเศษ และสัมมนาพิเศษดังกล่าวทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่ายกว่า 150 ท่าน

▶️ ร่วมกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ "โครงการธนาคารเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม"

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในนามตัวแทนคณะทำงานเครือข่ายธนาคารปูม้า จ.ชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนของ วช. ได้รับเกียรติจากกลุ่มบริษัทเอสโซ่และธนาคารปูม้าชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม เข้าร่วมกิจกรรม "โครงการธนาคารเพาะพันธุ์สัตว์น้ำชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม" ซึ่งกลุ่มบริษัทเอสโซ่เป็นผู้สนับสนุนหลักที่ได้ดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากท่านประมงอำเภอศรีราชา คณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทเอสโซ่ และพี่น้องชาวประมงในชมรมฯ เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่ทะเล บริเวณชายทะเลกลุ่มชมรมประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม จ.ชลบุรี

▶️ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มูลนิธิเอ็นไลฟ โดยการสนับสนุนของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี)  ในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม  โดยได้ส่งทีมเข้าร่วมสำรวจและเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2565