การจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นหรือระดับชาติคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 3 ภาควิชาของคณะ ได้แก่ ภาควิชาชีววิทยาประมง ภาควิชาการจัดการประมง และภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  รวมทั้งสถานีวิจัยประมง 3 สถานี คือ สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม และสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมด้านการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ผ่านกระบวนการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ   โดยในปี 2565 มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อย ดังต่อนี้

1) การฝึกงานและสหกิจศึกษาให้แก่นิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่น
    สถานีวิจัยประมงที่มีการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยให้แก่ชุมชนมี 3 สถานีที่เกี่ยวข้อง คือ สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน และสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ โดยให้การฝึกงานทั้งนิสิตคณะประมงและนักศึกษาจากสถาบันอื่นด้วย อาทิ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  เป็นต้น    โดยเน้นให้นิสิตได้พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและน้ำกร่อย เช่น การเตรียมบ่อ และการวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยการเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อทดลอง โดยตลอดทั้งปี 2565 มีนิสิตฝึกงานและสหกิจศึกษามากกว่า 200 คน อาทิ

  • ในช่วงระหว่างวันที่ 6-12 มิถุนายน 2566 บุคลากร นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของสถานีวิจัยประมงกำแพงแสน ได้ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติงานให้แก่นิสิตฝึกงานจาก คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสมเด็จเจ้าพระยา และนิสิตฝึกงานจากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน รวมทั้้งสิ้นจำนวน 5 คน โดยในช่วงระหว่างวันดังกล่าว นิสิตได้รับการฝึกงานเกี่ยวกับการเพาะและขยายพันธ์ุปลานิลแปลงเพศ การเพาะพันธุ์ปลายี่สก เรียนรู้การถ่ายภาพสัตว์น้ำทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการพานิสิตออกไปศึกษานอกสถานที่เพื่อไปดูกิจการฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งในบริเวณใกล้เคียงของสถานีวิจัย
ภาพการฝึกงาน สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน
  • 11 เมษายน 2566 สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม รับนิสิตฝึกงานจากภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ,ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริง ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง คุณภาพน้ำ และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม
ภาพการฝึกงาน สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม
  • 18 พฤษภาคม 2566 อาจารย์ ดร.พูนสิน กันทา รองหัวหน้าสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม พร้อมด้วยนักวิชาการประมงของสถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม นำนิสิตฝึกงานเข้าศึกษาดูงานเรื่องการแปรรูปอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ทางประมง และศึกษาชนิดของเรือประมงโดยมี สจ.กฤตกร แซ่เอี๊ยบ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2560 ให้ความอนุเคราะห์ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นิสิตฝึกงาน ด้านระบบนิเวศน์ทางน้ำเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานในอนาคตต่อไป
ภาพการฝึกงาน สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม

2)  การจัดฝึกอบรมด้านการประมงและระบบนิเวศน์น้ำจืด

  • ศูนย์เชี่ยวชาญการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Center of Excellence in Aquatic Animal Health Management (CE AAHM), Faculty of Fisheries, Kasetsart University, Bangkok, Thailand) ได้มีการจัดอบรมเชิงวิชาการ “โรคและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นในปลาเศรษฐกิจของประเทศไทย” ให้กับบุคลากรบริษัท อินเทคค์ ฟีด จํากัด และเกษตรกรผู้สนใจเกี่ยวกับหลักการ เทคนิคที่สำคัญในการตรวจวินิจฉัย การจัดการเพื่อป้องกัน และรักษาโรคที่เกิดขึ้นในปลาเศรษฐกิจของประเทศไทย   ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566   โดย รศ.ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ , อ.ดร.อนุรักษ์ บุญน้อย อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก
  • วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความอนุเคราะห์จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 จำนวน 59 คน และคุณครูผู้ดูแลอีก 6 ท่าน จากโรงเรียนสตรีภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยการให้ความรู้แก่นักเรียนในเรื่องของการเพาะและขยายพันธ์ุปลานิลแปลงเพศ ทั้งนี้นักเรียนทุกคนต่างให้ความสนใจและได้ฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนามและภาคปฏิบัติการ
  • วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายณัฐพงษ์ ปานขาว หัวหน้าสถานีวิจัยประมงกำแพงแสน ได้รับเชิญจากเทศบาลตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายและให้ความรู้แก่เกษตรกรในหัวข้อเรื่อง การเลี้ยงหอยขมในกระชังบก ทั้งนี้มีเกษตรในพื้นที่เขตเทศบาลโป่งเข้าร่วมรับฟังการบรรยายดังกล่าวจำนวน 80 คน

3)  ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจัดโครงการเสริมสร้างทักษะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
     วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2565 ได้จัดกิจกรรมโครงการตะลุยฟาร์ม … ครั้งที่ 2 ให้กับนิสิตสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นโครงการพานิสิตศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ สถานประกอบการด้านการประมง นำโดย ผศ.ดร.สาทิต ฉัตรชัยพันธ์ และ คุณณัฐพงษ์ ปานขาว ผู้ช่วยคณบดีประจำวิทยาเขตกำแพงแสน คณะประมง พานิสิตจำนวน 21 คน เดินทางไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ AF Arowana Farm ฟาร์มปลาอโรวาน่าแห่งแรกในประเทศไทย กิจกรรมในฟาร์ม ได้แก่ เพาะพันธุ์ อนุบาล และส่งออกปลาหลายสายพันธุ์ และเดินทางต่อไปยังสมพรฟาร์ม เป็นฟาร์มผู้รวบรวมปลาสวยงามเพื่อการส่งออก