สถานีวิจัยประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานสนับสนุนภาระกิจด้านการเรียนการสอนและการฝึกงาน การวิจัย และบริการวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชน ซึ่งคณะประมงมีสถานีวิจัยประมงถึง 5 สถานี ได้แก่ สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม สถานีวิจัยประมงศรีราชา จังหวัดชลบุรี สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง
สำหรับการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นหรือระดับชาติคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานีวิจัยประมง 3 สถานี คือ สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม และสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ครอบคลุมด้านการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ผ่านกระบวนการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ (ภาพตัวอย่างผลการดำเนินงานของสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ)

โดยสรุปในปี 2564 กิจกรรมของสถานีวิจัยประมง คณะประมง ที่เกี่ยวข้องการจัดการเรียนการสอนด้านระบบนิเวศน้ำจืดให้ชุมชน ดังต่อนี้
1) การฝึกงานและสหกิจศึกษาให้แก่นิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่น
สถานีวิจัยประมงที่มีการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยให้แก่ชุมชนมี 3 สถานีที่เกี่ยวข้อง คือ สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน และสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ โดยให้การฝึกงานทั้งนิสิตคณะประมงและนักศึกษาจากสถาบันอื่นด้วย อาทิ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นต้น โดยเน้นให้นิสิตได้พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและน้ำกร่อย เช่น การเตรียมบ่อ และการวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยการเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อทดลอง โดยตลอดทั้งปี 2564 มีนิสิตฝึกงานและสหกิจศึกษามากกว่า 200 คน


2) การพัฒนาโครงการพัฒนาวิชาการร่วมกับภาคเอกชน
สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการดำเนินการ "โครงการการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพอาหารปลากะพงขาวในน้ำกร่อยในบ่อดิน" ภายใต้ โครงการพัฒนาวิชาการ ร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลลัพธ์จากการศึกษาจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงและการจัดการคุณภาพน้ำที่เหมาะสมให้ชุมชนต่อไป



ในวันที่ 8 กันยายน 2564 บุคลากรของสถานีฯ ร่วมกันดำเนินการสุ่มชั่งน้ำหนักวัดขนาดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของปลากะพงขาวในกะพงขาวในบ่อดิน ที่อายุการเลี้ยง 5.5 เดือน ปลากะพงขาวในบ่อเลี้ยงมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 800 กรัม ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก ดังนั้นต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำเป็นประจำ เนื่องจากสัตว์น้ำอาจมีอาการป่วย ทางสถานีฯ มีแนวทางการป้องกันการเกิดโรคโดยการรักษาคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ ร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ และการเติมวัสดุปูนที่มีองค์ประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต อย่างปูนมาร์ล หรือปูนโดโลไมต์ ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เดือนละ 1-2 ครั้ง พบว่าช่วยลดโอกาสเกิดโรคและลดความรุนแรงของโรคได้อย่างดี
3) ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจัดโครงการเสริมสร้างทักษะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร จัดเวทีประชุมเตรียมความพร้อมกิจกรรม "บางสนโมเดล" ในวันที่ 26 ธันวาคม 2564 โดยจะเริ่มขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2565 ภายใต้กรอบ "การพัฒนาตำบลบางสนสู่ตำบลแห่งการเรียนรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรและประมง" โดยการมีส่วนร่วมของคณะทำงานในแต่ละภาคส่วนทั้งภาคสถาบันการศึกษา หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนที่ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่เริ่มกระบวนการ