พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1. ชื่อหน่วยงาน
   พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
   พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  อยู่ภายใต้ฝ่ายสนับสนุนวิชาการของคณะประมง ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2507 ในสมัยที่ศาสตราจารย์โชติ สุวัตถิ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะประมง โดยได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสมัยนั้น ตามโครงการสัญญาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยฮาไวอิ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อวัตถุประสงค์ในการค้นคว้าและการจัดแสดง เป็นแหล่งให้ความรู้ต่อประชาชน การเรียนการสอนของนิสิต ตลอดจนการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การประมง

2.ภารกิจหลักของหน่วยงาน
  1. เป็นแหล่งศึกษา วิจัย ค้นคว้า และอ้างอิงทางอนุกรมวิธาน ความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทางน้ำ
  2. เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทางน้ำ เครื่องมือประมง โบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาธรรมชาติวิทยาทางน้ำของไทย
  3. เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนักวิจัยภายนอก ด้านอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทางน้ำ
  4. เป็นแหล่งให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

3. ศักยภาพของหน่วยงาน
   พิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวอย่างพรรณสัตว์น้ำรวมทั้งหลักฐานประวัติการศึกษาธรรมชาติวิทยาทางน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ตัวอย่างสำคัญและสิ่งของอันทรงคุณค่าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้แก่ 
   - ตัวอย่างปลาไทยที่เก็บรวบรวมไว้โดย Dr. Hugh M. Smith ที่ปรึกษาด้านการประมงแห่งราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ พ.ศ. 2466 - 2478 โดยมีตัวอย่างต้นแบบแรก (Holotype) และตัวอย่างเคียงต้นแบบแรก (Paratype) จำนวนมากกว่า 49 ชนิด และตัวอย่างที่ได้จำแนกชนิดแล้วมากกว่า 500 ชนิด
   - สมุดบันทึกภาคสนาม (Field note) ของ Dr. Hugh M. Smith จำนวน 34 เล่ม และแผ่นดัชนีข้อมูลปลา (Index card) เขียนโดยลายมือ Dr. Hugh M. Smith จำนวน 560 แผ่น
   - แผ่นดัชนีข้อมูลปลา (Index card) เขียนด้วยลายมือ ศาสตราจารย์โชติ สุวัตถิ มากกว่า 15,000 แผ่น
   - ต้นฉบับภาพวาดปลาสีน้ำโดยหลวงมัศยจิตรการ (นายประสพ ตีระนันท์) ช่างเขียนภาพประจำกระทรวงเกษตราธิการ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และต้นฉบับภาพวาดปลาลายเส้นฝีมือศาสตราจารย์โชติ สุวัตถิ ซึ่งมีรายละเอียดถูกต้องและเหมือนจริงมากที่สุด รวม 116 ภาพ
   - ตัวอย่างเปลือกหอยที่รวบรวมตั้งแต่ พ.ศ. 2466

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แบ่งส่วนงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
   1. ส่วนจัดแสดง (Exibition hall) จัดแสดงโปสเตอร์ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ บุคคลที่มีความสำคัญต่อการศึกษาธรรมชาติวิทยาทางน้ำ สัตว์สตัฟท์และป้ายแสดงชีววิทยาเบื้องต้น มุมจัดแสดงพิพิธภัณฑ์มีชีวิตซึ่งแสดงสัตว์น้ำที่มีชีวิตบางส่วน
   2. ส่วนพิพิธภัณฑ์อ้างอิง (Reference collection) เป็นส่วนที่เก็บรวบรวมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทางน้ำในกลุ่มปลา และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มสาหร่ายทะเลเพื่อการอ้างอิงและการศึกษาทางอนุกรมวิธาน โดยการจัดเรียงให้ง่ายต่อการค้นหา
   3. ส่วนวิจัย (Research unit) เป็นส่วนห้องปฏิบัติการวิจัยเกี่ยวอนุกรมวิธานของปลา สาหร่ายทะเล และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทางน้ำ
   4. ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ในคณะประมง ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เขตจตุจักร กรุงเทพ มีพื้นที่ทั้งหมด 757.46 ตารางเมตร
   5. สภาพอากาศ 
       ช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธุ์  มีอากาศค่อนข้างเย็น
       ช่วงเดือนมีนาคม -  เมษายน เป็นช่วงที่มีอากาศร้อน
       ช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุก
  6. ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิตลอดปีอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส
  7. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1496.8 มิลลิเมตร
  8. พิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด 130 51’ 18.16” เหนือ, ลองจิจูด 1000 34’ 03.62” ตะวันออก

สมุดบันทึกภาคสนามของ Dr. H.M. Smith
ภาพวาดปลาสีน้ำฝีมือหลวงมัศยจิตรการ
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โถงจัดแสดงภายในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์
ส่วนพิพิธภัณฑ์อ้างอิง
ตัวอย่างปลาชุดแรกของประเทศไทยรวบรวมโดย Dr. H.M. Smith ในช่วงปี พ.ศ. 2466 – 2479
ส่วนวิจัยอนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิตทางน้ำ
ตัวอย่างเปลือกหอย
แผ่นดรรชนีบันทึกข้อมูลปลาเขียนด้วยลายมือ Dr. H.M. Smith
ส่วนจัดแสดงสิ่งมีชีวิตทางน้ำในรูปแบบมีชีวิต
โดมม์ ลิมปิวัฒน
นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ

ประกาศ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง