คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกิจกรรมในการติดตามและดูแลสุขภาพของระบบนิเวศในน้ำ อาทิ

▶️  สถานีวิจัยประมงศรีราชา และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมสำรวจการกระจายตัวของค่าคุณภาพน้ำ บริเวณทะเลศรีราชเพื่อการศึกษาพลวัติการเปลี่ยนแปลงออกซิเจนละลาย ระหว่างวันที่ 10-20 กันยายน พ.ศ. 2566 พบว่าการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนละลายของพื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลมาจาก การสังเคราะห์แสงของแพลงตอน การย่อยสลายของซากแพลงตอนและมรพิษสารอินทรีย์ในน้ำ การแลกเปลี่ยนของมวลน้ำกร่อยริมชายฝั่งทะเลและมวลน้ำทะเลนอกชายฝั่งครับ

พื้นที่อ่าวไทยตอนในได้รับมวลน้ำที่มีสารอาหารสูงจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ทำให้เกิดการสะพรั่งของแพลงตอนพืช นอกชายฝั่ง ลมมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้มวลน้ำนี้เคลื่อนที่เข้าทะเลตื้นริมชายฝั่งชลบุรี บางแสน ศรีราชา บางละมุง การย่อยสลายของซากแพลงตอนและชีวมวลในน้ำ ทำให้เกิดมวลน้ำออกซิเจนต่ำหรือพร่องออกซิเจนโดยสมบูรณ์ และลมที่เปลี่ยนทิศทางก็มีผลทำให้มวลน้ำออกซิเจนต่ำนี้เคลื่อนที่ออกจากพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล

จากผลการสำรวจ อาจจะสรุปได้ว่า คุณภาพน้ำของพื้นที่บางแสน ศรีราชา บางละมุงน่าจะดีขึ้นตามลำดับครับ อย่างไรก็ตามการผุดขึ้นของน้ำทะเลจากที่ลึกอาจจะส่งผลทำให้คราบน้ำมันที่รั่วไหลก่อนหน้า ที่ตกตะกอนจากการใช้สาร dispersant อาจจะผุดขึ้นตามมาด้วย ทั้งนี้ต้องติดตามกันต่อไป


นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและรองคณบดีคณะประมง ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงผลการสำรวจทะเลบริเวณ ศรีราชา บางแสน ว่า ค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ ซึ่งปกติค่าน่าจะอยู่ที่ 5-7 mg/L แต่ทุกสถานีที่เก็บมา (ดูตำแหน่งในแผนที่) ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 1 ทุกสถานี  อีกทั้งยังเป็นค่าที่ต่ำตลอดทั้งมวลน้ำ ไม่ว่าจะใกล้ผิวน้ำจนถึงพื้น ออกซิเจนต่ำทั้งนั้น 

ตามเกณฑ์มาตรฐาน หากค่าออกซิเจน 0-2 mg/L จะไม่พอเพียงสำหรับสัตว์น้ำ ถ้าต่ำกว่า 0.5 mg/L จะเกิดการตายครั้งใหญ่ ซึ่งค่าออกซิเจนที่คณะประมงสำรวจ หลายจุดต่ำกว่า 0.5 โดยเฉพาะสถานีใกล้ชายฝั่ง นั่นอาจเป็นคำตอบของปลา/สัตว์น้ำพื้นทะเลตายเป็นจำนวนมาก โดยพบว่า

  • กุ้ง ปู และกั้งชนิดต่างๆ รวมถึงไส้เดือนทะเลที่ฝังตัวในพื้นก็ยังตาย หากเป็นไปตามข้อมูลนี้ หมายถึงสถานการณ์แถวนั้นน่าเป็นห่วงมาก
  • เมื่อดูค่าคลอโรฟิลล์ จะเห็นว่าไม่สูงมาก แต่ทั้งนี้อาจเกิดจากถึงแพลงก์ตอนบลูมถึงเฟซสุดท้าย แพลงก์ตอนพืชตายเกือบหมด ทำให้เกิดการย่อยสลาย ออกซิเจนจึงหมดไปอย่างรวดเร็ว
  • หอยในพื้นที่ พบว่ามีบางส่วนตายแล้ว 
  • ค่า DO ต่ำมากในพื้นที่กว้างจนน่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม ควรมีการตรวจสอบพิ่มเติมจากหน่วยงานวิจัยในพื้นที่ และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้าน ถึงสัตว์น้ำในช่วงนี้ว่าเป็นอย่างไร   และทางผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ได้ประสานไปทางกรมควบคุมมลพิษ ให้ช่วยติดตามตรวจสอบเพิ่มหากข้อมูลเหล่านี้มีการยืนยัน จะแสดงถึงระบบนิเวศในทะเลบริเวณดังกล่าวเริ่มมีปัญหา

  "แม้จะเป็นชั่วคราว แต่แบบนี้เรียกได้ว่า Dead Zone เพราะมันไม่ใช่แค่บางจุดบางความลึก แต่เป็นทั้งหมด" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว