คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นจิตสานึกต่อการทำประมงเกินขนาด การทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและการทำประมงแบบทำลายล้าง รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนผ่านทั้งการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการสู่สังคมและชมชน  โดยในปี 2565 ถึงปัจจุบัน ได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องดังนี้

 ▶️ เข้าร่วมกิจกรรมการอนุรักษ์และเพิ่มสัตว์น้ำท้องถิ่น

  • วันที่ 3 กันยายน 2565 สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารและบุคลากรจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) หรือ TCELS  ณ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าของสถานีวิจัยฯ โดยทางคณะฯได้เข้ารับฟังการบรรยายเกี่ยวกับสถานีวิจัยฯ และศึกษาเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ของสถานีฯ พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมและทำกิจกรรม CSR ในการปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าระยะแรกฟัก (zoea) ลงสู่ทะเลบริเวณด้านหน้าสถานีวิจัยฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้ยั่งยืนและเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังเจตนารมณ์ของการจัดกิจกรรมของทางคณะฯ ในครั้งนี้

 

  • วันที่ 21 กันยายน 2566 สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยกลุ่มบริษัท กิจการร่วมค้า CNNC ร่วมกับการท่าเรือนิคมฯ แหลมฉบัง หน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น และกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ ณ บริเวณชายทะเล กลุ่มประมงบ้านแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มสัตว์น้ำท้องถิ่น รวมถึงการคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติให้ยั่งยืนต่อไป


 ▶️ ด้านการวิจัยและบริการวิชาการ
     
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการดำเนินการวิจัย การบริการวิชาการ และการถ่ายทอดความรู้โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน อาทิ

  • การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงปลากะพงแดงของสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ 

    สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุมัติงบประมาณจากทุนอุดหนุนวิจัย มก. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. (สวพ.มก.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โครงการวิจัยรหัส RS(KU) 6.65 ชื่อโครงการ "การพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงปลากะพงแดง (Lutjanus argentimaculatus) เพื่อผลิตเป็นสินค้าสัตว์น้ำเศรษฐกิจ"  โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 24 เดือน (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2567) ทั้งนี้ เพื่อการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพกำลังคน และพัฒนางานวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย 

ปลากะพงแดง (Latjanus argentimaculatus) ถือเป็นอีกหนึ่งสัตว์น้ำชายฝั่งเศรษฐกิจที่ทาง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นและให้ความสำคัญที่จะพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงที่นำไปสู่ "สัตว์น้ำเศรษฐกิจทางเลือกใหม่" เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปในการประกอบอาชีพด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต โดยได้มอบหมายให้ ทีมวิจัยของ สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อนำไปสู่การเพาะเลี้ยงปลากะพงแดงแบบครบวงจรต่อไป คือ การเพาะพันธุ์ การอนุบาล และการเลี้ยง โดยใช้ทรัพยากรปลาที่ได้จากระบบการเลี้ยงเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อทดแทนทรัพยากรปลาที่จับจากธรรมชาติ 

อีกทั้งสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ยังได้ให้นิสิตฝึกงานภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีส่วนร่วมในการการฝึกภาคปฏิบัติการในการเพาะเลี้ยงปลากระพงแดง โดยมีเป้าหมายเพื่อการผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลาจากระบบการเลี้ยงสำหรับใช้ประโยชน์ในการเพาะพันธุ์และการศึกษาวิจัยต่อไป


ภาพนิสิตฝึกงานร่วมกันลากปลากะพงแดงเพื่อคัดเลือกปลาเพศผู้และเพศเมียที่สมบูรณ์แยกขึ้นไปเลี้ยงในบ่อผ้าใบภายใต้ระบบโรงเรือน ,6 เมษายน 2566 

 

  • ความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการ “การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศร่วมกันฯ"

    สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย น.ส.รุ่งทิวา คนสันทัด นักวิชาการประมง และ น.ส.ชลดา ลีอร่าม ผู้ช่วยนักวิจัย ร่วมกับกรมประมง อำเภอกุยบุรี และประมงอำเภอเมือง ในโครงการ “การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย" โดยมี "รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม" เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง และกรมประมง ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

    ทั้งนี้ การส่งมอบลูกพันธุ์ปูทะเลรอบแรกนั้น ได้ส่งมอบลูกปูระยะตัวปู (ขนาดประมาณ 1 ซม.) จำนวน 30,000 ตัว ให้กับเกษตรกรจำนวน 8 ราย (จาก 20 ราย) นอกจากนี้ ทีมวิจัยของสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ได้บริการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นก่อนดำเนินการปล่อยลูกพันธุ์ปูลงเลี้ยงให้กับเกษตรกรแต่ละรายอีกด้วยครับ

ภาพการลงพื้นที่พบเกษตรกรผู้เลี้ยงปูทะเลในพื้นที่ อ.กุยบุรี และ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งมอบลูกพันธุ์ปูทะเล (ปูขาว Scylla paramamosain) ให้กับเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงปูทะเลที่อยู่ภายใต้โครงการ , 18 มีนาคม 2566