คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่พิทักษ์หรือรักษาสิ่งมีชีวิตในน้ำ จึงมีการร่วมกับหน่วยงานภายนอกในการดำเนินการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับยในปี 2565 ถึงปัจจุบันได้มีการดำเนินการ ดังนี้
▶️ ร่วมกับ ปตท.สผ. ที่สนับสนุนการตรวจสุขภาพปะการังจากโลกร้อน
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ปตท.สผ. ในโครงการตรวจสุขภาพปะการัง บริเวณเกาเต่า จังหวัดระยอง โดยพบว่าผลจากโลกร้อน ทำให้ปะการังยิ่งมีสุขภาพที่แย่ลง
#เกาะเต่า อยู่ห่างฝั่งแผ่นดินใหญ่โดยวัดแบบตัดตรง 70+ กม. น้ำใส รอบๆ เป็นเขตทะเลลึก 30-40 เมตร สภาพแวดล้อมต่างจากแนวปะการังน้ำตื้นแถวระยอง ปัญหาคือทะเลร้อนเพราะโลกร้อน แม้สถานการณ์ดีกว่าเกาะน้ำตื้น แต่เราพบปะการังสีซีดบ้าง เปลี่ยนสีบ้าง บางกอที่เป็นปะการังเขากวางปลูกใหม่ก็เริ่มมีอาการ แม้จะอยู่ในที่ลึกร่วม 10 เมตร แต่ตอนนี้หน้าฝนเริ่มมาบ้างแล้ว อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงบ้าง คาดว่าส่วนใหญ่คงฟื้นได้
เมื่อปี 2564 ได้มีการตรวจสุขภาพปะการังแล้วครั้งหนึ่ง พบว่าปะการังซีดแต่ฟื้นภายหลัง จะมีตายจริงคือพวกที่อยู่ติดฝั่งน้ำตื้นมาก แต่หากปะการังซีดๆ ฟื้นๆ ต่อเนื่องกันหลายปี คงบอกไม่ได้ว่าสุขภาพดี นอกจากปะการังฟอกขาว อีกประเด็นที่ต้องตามคือเมื่อปะการังอ่อนแอ โอกาสเกิดโรคจะมีง่ายขึ้น เช่น โรค tissue loss ที่เคยเกิดแถวภาคตะวันออก (SCTLD) มองไปข้างหน้า เอลนีโญกำลังเริ่มจริงจังไปถึงต้นปีหน้า หวังเพียงว่าจะไม่ยาวไปไกลกว่านั้นมาก และจะไม่ส่งผลต่อน้ำร้อนในเดือนเมษายน/พฤษภาคม 2567 มากเกินไปนัก

ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกำลังวัดความสูงของปะการังที่ตายจากการฟอกขาวซ้ำซ้อน เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงมากอย่างต่อเนื่อง หากปรากฏการณ์เอลนีโญลากยาวไปถึงกลางปีหน้า อาจส่งผลกระทบรุนแรงในอ่าวไทย
ผลการตรวจสุขภาพจึงปะการังเป็นปานกลาง ต้องแอดมิตเพื่อเฝ้าระวัง และยังเตรียมการรับมือไว้ด้วย โดยติดตามเรื่องอุณหภูมิน้ำและปะการังฟอกขาว/ฟื้นตัว เราต้องลดผลกระทบจากมนุษย์ให้มากสุด ตะกอนจากกิจการบนเกาะ/เปิดหน้าดิน เคยเป็นปัญหายาวนาน ตรงนี้ต้องช่วยกันระวัง ไม่งั้นเข้าหน้าฝนจริงจัง ตะกอนไหลลงทะเล ซ้ำเติมปะการังแน่นอน รวมถึงเตรียมการรับแรงกระแทก หากปะการังย่ำแย่จากน้ำร้อน เราต้องลดคนในพื้นที่ธรรมชาติ แหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้าง รวมถึงการท่องเที่ยวสายกรีน บนเกาะเต่ามีเครือข่ายอนุรักษ์เข้มแข็ง จะสามารถช่วยได้
ผลกระทบจากโลกร้อนเป็นปัญหารุ่นใหม่ การแก้ไขมันต้องหาทางเรียนรู้กันไป ไม่มีตำราไหนบอกไว้เป๊ะๆ เพราะโลกไม่เคยร้อนแบบนี้ในยุคมนุษย์
คณะประมงจะพยายามศึกษาเรียนรู้ให้มากที่สุด เพราะเรามั่นใจว่าความรู้ที่ได้ จะมีประโยชน์ในอนาคตแสนใกล้

▶️ ร่วมกับกลุ่มบางจากฯ ศึกษาความสามารถในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการัง
ในปี 2565 ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบางจากฯ ศึกษาความสามารถในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังผืนใหญ่ของภาคตะวันออกในบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จังหวัดตราด
“Blue Carbon” ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูงที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งพื้นที่ Blue Carbon ประกอบด้วยป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง และแหล่งหญ้าทะเล โดยพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพจับคาร์บอนในอากาศ อย่าง ป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าป่าปกติถึง 4 เท่า
โดยเฉพาะ “แหล่งหญ้าทะเล” ระบบนิเวศที่ดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 %ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 % รวมถึงยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน และเต่าตนุ รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาล และที่หลบภัยของสัตว์น้ำอีกหลายชนิด
“กลุ่มบริษัทบางจาก” มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ด้วยแผน “BCP NET” และล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นพยาน เพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยโมเดล Bangchak WOW

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกมีการกล่าวถึงหญ้าทะเลมากขึ้น เพราะหญ้าทะเล ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon และประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งในบริเวณเกาะหมาก และเกาะกระดาด จังหวัดตราด ถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังขนาดใหญ่ โดยในการศึกษาของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทบางจาก จะมีการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่างๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่
สำหรับพื้นที่ในการสำรวจแหล่งหญ้าทะเล จะเป็นบริเวณอ่าวกระเบื้อง เกาะหมาก 10 ไร่ และฝั่งตะวันตกของเกาะกระดาด 12.3 ไร่ และมีการนำตัวอย่างดิน ไปศึกษาวิจัยในห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ
“การจะศึกษาการใช้คาร์บอนเครดิจจากแหล่งหญ้าทะเล ต้องมีการ สำรวจชั้นดิน ในความลึกแต่ละชั้นร่วมด้วย เพราะการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไม่ได้กักเก็บอยู่ในใบของหญ้าทะเล แต่กว่า 90% จะอยู่ในดิน ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลแล้วจะต้องทำการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
ที่มา: “Blue Carbon”สู่คาร์บอนเครดิต บางจากศึกษา“หญ้าทะเล”ลดโลกร้อน ,กรุงเทพธุรกิจ.8 ก.ค.2565 รายละเอียดเพิ่มเติม...