หญ้าทะเลเป็นแหล่ง Blue Carbon ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานเกี่ยวกับหญ้าทะเลมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีมาแล้ว ในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา คณะประมงเน้นการวิจัยเพื่ออนาคต เพื่อหาวิธีในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลโดยแก้ปัญหาการใช้ต้นพันธุ์จาก แหล่งธรรมชาติให้น้อยที่สุด จากการเวลาศึกษา ลองผิดมากกว่าลองถูก จนในที่สุดทีมวิจัยคณะประมง นำโดย รศ. ชัชรี แก้วสุรลิขิต ภาควิชาชีววิทยาประมง เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อชะเงาใบยาว (Enhalus acoroides) สามารถพัฒนาวิธีการกระตุ้นให้หญ้าชะเงาแตกยอด จาก 1 เมล็ด ให้ออกมาเป็น 300 ยอด ได้เป็นผลสำเร็จ ปัจจุบัน เราร่วมมือกับหลายหน่วยงานในมหาวิทยาลัย กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนาวิธีการผลิตต้นพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและอนุบาลต้นอ่อน
อย่างไรก็ตาม ถึงจะผลิตต้นพันธุ์ได้ แต่การนำลงไปปลูกในพื้นที่ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จโดยง่าย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงพัฒนาโมเดลในการประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมในการย้ายปลูกหญ้าทะเล เพื่อใช้ทดสอบพื้นที่ก่อนที่จะมีการนำลงปลูก เพื่อหวังว่าหากมีการใช้ต้นพันธุ์ที่เหมาะสมทั้งจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือจากการเก็บจากธรรมชาติ แล้วนำลงปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการประเมินว่ามีความเหมาะสม จะทำให้หญ้าทะเลที่นำลงย้ายปลูก สามารถรอดชีวิต เจริญขยายพื้นที่ได้ อยู่รอด เพื่อเก็บกักคาร์บอน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชน
ปี 2564 คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัย"การพัฒนาวิธีการฟื้นฟูและการตัดสินใจย้ายปลูกหญ้าทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป้าหมายโครงการคือ เทคนิควิธีการในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์ วิธีการปลูก รวมถึงวิธีประเมินพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการ นำหญ้าทะเลลงปลูก ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นการรักษาแหล่งต้นพันธุ์หญ้าทะเล และใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลต่อไปในอนาคต
วันที่ 6-7 สิงหาคม 2564 คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร คณะสังคมศาสตร์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เก็บตัวอย่างหญ้าทะเล ข้อมูลปัจจัยสิ่งแวดล้อม พิกัดการแพร่กระจายของหญ้าทะเลบริเวณอ่าวขามและแหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เพื่อนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเลี้ยงในบ่ออนุบาล และรวบรวมเป็นข้อมูลสารสนเทศและการสำรวจจากระยะไกล ภายใต้โครงการ"การพัฒนาวิธีการฟื้นฟูและการตัดสินใจย้ายปลูกหญ้าทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล"
วันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลความลาดชันของพื้นที่และสุ่มเก็บตัวอย่างชั้นตะกอนดิน บริเวณแหล่งหญ้าทะเลหาดหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง จำนวน 20 แนวสำรวจ เพื่อศึกษารูปแบบการแพร่กระจายของหญ้าทะเลและวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่กระจาย ภายใต้ความร่วมมือในโครงการ"การพัฒนาวิธีการฟื้นฟูและการตัดสินใจย้ายปลูกหญ้าทะเลเพื่อการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล"
#เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนด้วย“หญ้าทะเล”
นอกจากนี้คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามบันทึกสัญญา โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล เพื่อช่วยในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และภายใต้ความมือดังกล่าว คณะประมง ได้ดำเนินการโครงการศึกษา “หญ้าทะเลในประเทศไทยและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเล” โดยได้ลงพื้นที่เกาะหมาก จังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการ ระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายน 2565 และนำเสนอผลการศึกษาในวันที่ 9 กันยายน 2565 นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สู่ Low Carbon Destination ที่มีความสำคัญยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
วันที่ 9 กันยายน 2565 ผศ.ดร.สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดีคณะประมง รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต ดร.เยาวลักษณ์ มั่นธรรม และดร.ปัทมา ทองกอก ให้การต้อนรับ คุณปวีณา พึ่งแพง รักษาการผู้จัดการกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) พร้อมคณะ ในการเข้ารับฟังการบรรยายและศึกษาดูงานห้องปฏิบัติการ ในหัวข้อ “หญ้าทะเลในประเทศไทยและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเล” ณ ร้านชอบปลาชุม คณะประมง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล และรองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งในบริเวณเกาะหมาก และเกาะกระดาด จังหวัดตราด ถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังขนาดใหญ่ โดยในการศึกษาของคณะประมง ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทบางจาก จะมีการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่างๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่
สำหรับพื้นที่ในการสำรวจแหล่งหญ้าทะเล จะเป็นบริเวณอ่าวกระเบื้อง เกาะหมาก 10 ไร่ และฝั่งตะวันตกของเกาะกระดาด 12.3 ไร่ และมีการนำตัวอย่างดิน ไปศึกษาวิจัยในห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ
“การจะศึกษาการใช้คาร์บอนเครดิจจากแหล่งหญ้าทะเล ต้องมีการ สำรวจชั้นดิน ในความลึกแต่ละชั้นร่วมด้วย เพราะการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไม่ได้กักเก็บอยู่ในใบของหญ้าทะเล แต่กว่า 90% จะอยู่ในดิน ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลแล้วจะต้องทำการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป”