ระบบสืบค้นข้อมูลกฎหมายประมง เครื่องมือช่วยชาวประมงเข้าถึงกฎหมายให้ง่ายขึ้น
 
            ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มปริมาณการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติมีแนวโน้มที่ลดลง โดยสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน การทำการประมงมากจนเกินกว่าธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน (OVER Fishing)  รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่เหมาะสมอาจนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมได้  นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ คือ ผลกระทบจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก EU ได้พิจารณาว่าประเทศไทยไม่มีการแก้ปัญหา  IUU Fishing ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต และการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งสัตว์น้ำไปขายยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ   ภาครัฐจึงได้มีความพยายามในการจัดหามาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ทั้งในด้านการควบคุม การบังคับ การส่งเสริม และการอนุรักษ์ ทั้งนี้เพื่อให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาและผลกระทบจาก IUU Fishing  โดยมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประมง ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่ใช้ผู้เกี่ยวข้องทราบผ่านทางเว็บไซด์ของกรมประมงในรูปเว็บเพจ ยังมีไม่ระบบสืบค้นจึงยากต่อการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายประมง
            ด้วยตระหนักถึงความสำคัญขอการสืบค้นข้อมูลกฎหมายประมง ระเบียบ และข้อบังคับทางการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบสืบค้นกฎหมายประมงขึ้น ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายประมงและระเบียบเกี่ยวกับการประมงและระบบสืบค้นบนอินเตอร์เน็ต”  ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนวิจัย มก. ในปี 2561 โดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายประมง ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลและพัฒนาระบบสืบค้นบนอินเตอร์เน็ต  ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง  อันจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการด้านการประมง นิสิตนักวิชาการ และประชาชนทั่วไป และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในเรื่องกฎหมายประมง ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันเกี่ยวกับกฎหมายประมง และสามารถดำเนินกิจกรรมทางการประมงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหา IUU Fishing การลดความขัดแย้งทางการประมง และการใช้ทรัพยากรประมงอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป

ที่มา http://laws.fish.ku.ac.th

    ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการวิจัยคือระบบสืบค้นกฎหมายประมง ซึ่งคณะประมง ได้ยื่นขอจดลิขสิทธิ์ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อปี 2562 รวมทั้งได้จัดทำโครงการบริการวิชาการ เพื่อได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประมงและระบบสืบค้นกฎหมายประมงให้กับเจ้าหน้าที่กรมประมง ชาวประมง และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 3 รุ่น รวมผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 156 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกต่อการทำประมงเกินขนาด การทำประมงผิดกฎหมาย และสามารถใช้ระบบสืบค้นกฎหมายประมงเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้โดยสะดวก

    นอกจากนี้ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการเรียนการสอนในวิชากฎหมายประมงเพื่อให้ความรู้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายประมงและการใช้ระบบสืบค้นกฎหมายประมงให้กับนิสิต ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาบัณฑิตจากคณะประมงก็จะประกอบอาชีพด้านการประมงทั้งภาครัฐและเอกชน