สถานีวิจัยประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานสนับสนุนภาระกิจด้านการเรียนการสอนและการฝึกงาน การวิจัย และบริการวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ชุมชน ซึ่งคณะประมงมีสถานีวิจัยประมงถึง 5 สถานี ได้แก่ สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม สถานีวิจัยประมงศรีราชา จังหวัดชลบุรี สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง
สถานีวิจัยประมง ที่ได้มีการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นหรือระดับชาติอย่างต่อเนื่อง คือสถานีวิจัยประมงกำแพงแสน สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม และสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ ครอบคลุมด้านการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ผ่านกระบวนการเรียนการสอน การวิจัยและการบริการวิชาการ (ภาพตัวอย่างผลการดำเนินงานของสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ)
โดยสรุปในปี 2564 กิจกรรมของสถานีวิจัยประมง คณะประมง ที่เกี่ยวข้องการจัดการเรียนการสอนด้านระบบนิเวศน้ำจืดให้ชุมชน ดังต่อนี้
1) การฝึกงานและสหกิจศึกษาให้แก่นิสิตและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่น
สถานีวิจัยประมงที่มีการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน้ำจืดและน้ำกร่อยให้แก่ชุมชนมี 3 สถานีที่เกี่ยวข้อง คือ สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน และสถานีวิจัยประมงคลองวาฬ โดยให้การฝึกงานทั้งนิสิตคณะประมงและนักศึกษาจากสถาบันอื่นด้วย อาทิ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นต้น โดยเน้นให้นิสิตได้พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและน้ำกร่อย เช่น การเตรียมบ่อ และการวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยการเก็บตัวอย่างน้ำจากบ่อทดลอง โดยตลอดทั้งปี 2564 มีนิสิตฝึกงานและสหกิจศึกษามากกว่า 200 คน

2) การพัฒนาโครงการพัฒนาวิชาการร่วมกับภาคเอกชน
สถานีวิจัยประมงสมุทรสงคราม มีการดำเนินการ "โครงการการศึกษาประสิทธิภาพอาหารปลากะพงขาวในน้ำกร่อยในบ่อดิน" ภายใต้ โครงการพัฒนาวิชาการร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลลัพธ์จากการศึกษา จะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนต่อไป
3. การให้บริการวิชาการ การถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชุน อาทิ
- โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
26 พฤศจิกายน 2564 มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทอดมันของพื้นที่ตำบลคลองวาฬ" ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ครัสเตอร์ 9) ณ สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ และ ผศ.ดร.จีรวรรณ มณีโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในครั้งนี้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการนี้ มีประชาชนกลุ่มเป้าหมายจากพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมากทั้ง ต.คลองวาฬ ต.บ่อนอก ต.บางสะพาน ต.ทับสะแก และต.นางหูกวาง
4. ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจัดโครงการเสริมสร้างทักษะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร จัดเวทีประชุมเตรียมความพร้อมกิจกรรม "บางสนโมเดล" ในวันที่ 26 ธันวาคม 2564 โดยจะเริ่มขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2565 ภายใต้กรอบ "การพัฒนาตำบลบางสนสู่ตำบลแห่งการเรียนรู้และนวัตกรรมด้านการเกษตรและประมง" โดยการมีส่วนร่วมของคณะทำงานในแต่ละภาคส่วนทั้งภาคสถาบันการศึกษา หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนที่ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่เริ่มกระบวนการ